สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่
ชื่อหน่วยงาน โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ที่ตั้ง 182 ถนน.รัถการ ตำบล.หาดใหญ่ อำเภอ.หาดใหญ่ จังหวัด.สงขลา 90110 โทรศัพท์ 074 273 100
หน่วยงานฝึกอบรม กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่
สำนักงานกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โทร 074 273 100 ต่อ 2123
ประวัติความเป็นมาโดยย่อของแผนงานฝึกอบรมโรงพยาบาลหาดใหญ่
ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในฐานะโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิชั้นสูงของรัฐ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โดยในระยะเริ่มแรกของการฝึกอบรม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญในขณะนั้น คือ ยังไม่เคยมีแพทย์ฉุกเฉินเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับแนวทางเนื้อหาหลักสูตร ยังไม่มีความชัดเจน แพทย์ประจำบ้านจะต้องไปศึกษาและปฏิบัติงานในสาขาหลักทุกสาขาอย่างน้อย ๔ สัปดาห์ นับเป็นความโชคดีที่ขณะนั้น กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินได้รับความร่วมมือจากกลุ่มงานศัลยกรรม และแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ เข้ามาเป็นอาจารย์เพื่อให้การเปิดการฝึกอบรมประสบความสำเร็จ โดยมี นายแพทย์สุภาพ ไพศาลศิลป์ เป็นประธานการฝึกอบรมคนแรก และมี นายแพทย์ภควัต จุลทอง เป็นตัวแทนโรงพยาบาลหาดใหญ่ในคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ มีแพทย์ที่จบการฝึกอบรมจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ทั้งสิ้น ๑ ท่าน
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โรงพยาบาลหาดใหญ่ กลับมาเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอีกครั้ง หลังจากไม่มีผู้เข้ามาสมัครเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี ในระหว่างนั้น โรงพยาบาลหาดใหญ่ เริ่มมีแพทย์ฉุกเฉินมาปฏิบัติงานแล้ว แต่ก็ยังเป็นอาจารย์ที่เพิ่งจบการฝึกอบรม ทำให้ยังขาดประสบการณ์ในการให้การฝึกอบรม โชคดีประการที่สอง ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในให้การอนุเคราะห์ให้แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการประจำสัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาการฝึกอบรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสบการณ์การให้การฝึกอบรมของอาจารย์แพทย์ฉุกเฉิน ในขณะเดียวกันที่ความสนใจในการฝึกอบรมสาขานี้เพิ่มสูงขึ้น โรงพยาบาลหาดใหญ่จึงได้มีโอกาสรับแพทย์ประจำบ้านเข้าฝึกอบรมในแผนกมาตลอดทุกปีต่อเนื่องกัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้ถูกก่อตั้งขึ้นพร้อมการให้มีการปรับปรุงการฝึกอบรมในมาตรฐานของสหพันธ์แพทยศาสตรศึกษาโลก (World federation for medical education) ส่งผลให้เกิดการพัฒนาของหลักสูตรฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างก้าวกระโดด โรงพยาบาลหาดใหญ่เอง เมื่อมีแพทย์ฉุกเฉินมาปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้มีความชัดเจน ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว และโดยการเปลี่ยนแปลงหลักๆ คือ การกำหนดสมรรถนะและขอบเขตความรู้ของแพทย์ฉุกเฉินที่จบการฝึกอบรมที่มีความชัดเจนขึ้น เน้นพันธกิจหลักในการฝึกอบรมแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพให้กับโรงพยาบาลของรัฐ และระบบสุขภาพไทย เพื่อมุ่งผลิตแพทย์ฉุกเฉินที่สามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาลภาครัฐอย่างมีความสุข โดยตลอดตั้งแต่การเริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้รับโอกาสในการพัฒนาทั้งในด้านการบริการเวชกรรมฉุกเฉินให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงโครงสร้างห้องฉุกเฉินให้มีความทันสมัยสอดรับกับการฝึกอบรมและปริมาณของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ด้านวิชาการมีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ รวมถึงได้รับโอกาสในการเป็นวิทยากรในงานบรรยายต่างๆอย่างต่อเนื่อง
แม้โรงพยาบาลหาดใหญ่จะยังไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เนื่องจากสภาพการเป็นโรงพยาบาลรัฐ ที่ต้องเน้นงานด้านบริการมากกว่าวิชาการ แต่ในทางกลับกันทำให้แพทย์ประจำบ้านได้พบผู้ป่วยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และรวมถึงปัญหาที่พบเห็นได้บ่อยในโรงพยาบาลรัฐ อาจอนุมานได้ว่าเป็นเหตุให้ผลผลิตที่ได้จากการฝึกอบรมของโรงพยาบาลหาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ภาคใต้ และได้รับเสียงสะท้อนกลับจากผู้ใช้ผลผลิตในแง่ดีเสมอมา
ปรัชญา และปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมของแผนงานฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นแขนงวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทางสาขาหนึ่งที่อาศัยการบูรณาการองค์ความรู้เวชวิทยาการสาขาต่างๆและวิทยาการบริหารจัดการ ประกอบกับทักษะในการบริบาลเวชกรรมฉุกเฉิน ได้แก่ การประเมิน การจัดการ การประสานงาน การควบคุมดูแล การติดต่อสื่อสาร การลำเลียงผู้ป่วย การตรวจ การแปลผล การวินิจฉัย การกู้ชีพ การรักษาเสถียรภาพและการบำบัดรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งนอกสถานพยาบาลและในสถานพยาบาล ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีเหตุภัยพิบัติรวมถึงการป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยในบริบทของความจำกัดด้านทรัพยากรและข้อมูล อันเป็นองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากจากนี้แพทย์ฉุกเฉินต้องมีความเป็นมืออาชีพมีความสามารถและเจตคติในด้านต่างๆอาทิเช่น การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การถ่ายทอดองค์ความรู้ การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ และกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งต่อตนเอง ต่อสถานที่ปฏิบัติงาน และต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ตลอดจนมีความรับผิดชอบ มองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีจริยธรรม ทัศนคติและเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ต่อผู้ร่วมงานและต่อองค์กร
ด้วยเหตุนี้ แพทย์ฉุกเฉินจึงอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีบทบาทหลักในการวางแผน การพัฒนาการ ดำเนินการ และการประเมินผลของระบบบริการสาธารณสุขที่ทรงสมรรถภาพและมีประสิทธิผล ช่วยสร้างเสริมงานเวชกรรมฉุกเฉินให้เข้มแข็งซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบบริการสาธารณสุขโดยไม่จำเป็นลงได้มาก
วิสัยทัศน์
“ผลิตแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ เพื่อท้องถิ่นภาคใต้”
พันธกิจ
1.ผลิตแพทย์ฉุกเฉินที่มีความรู้ ทักษะ คุณธรรมและจริยธรรมตามเกณฑ์มาตรฐานความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของแพทยสภา ทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ สามารถให้บริการทางวิชาการ การศึกษาและฝึกอบรม รวมถึงสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชกรรมฉุกเฉิน โดยจัดให้ผู้รับการฝึกอบรมมีประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) โดยมีผู้รับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบสนองความขาดแคลน ความจำเป็นในการบริบาลเวชกรรมฉุกเฉินของรัฐ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาด้านเวชกรรมฉุกเฉินของประชาชนและสังคมไทย
2.เพิ่มการผลิตแพทย์ฉุกเฉินเข้าสู่ระบบบริบาลสุขภาพของรัฐ ที่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในระบบบริบาลสุขภาพ ระบบบริหารจัดการภาครัฐ สามารถปรับตัวและปฏิบัติงานในระบบบริบาลสุขภาพภาครัฐอย่างมีความสุขและยั่งยืน
โครงสร้างการบริหารกิจการและการจัดการฝึกอบรม
โครงสร้างองค์กรภายในกลุ่มงาน
รายชื่อผู้บริหารโรงพยาบาลหาดใหญ่
ที่ | ชื่อ-นามสกุล | ตำแหน่ง |
๑ | นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี | ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ |
๒ | พญ. วิชชุดา ดอนสกุล | รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ 1 |
๓ | นพ. ประวิทย์ วรรณโร | รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ |
๔ | จ่าเอก ชำนาญ ชูรัตน์ | รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร |
๕ | นางชนัญญา ชงัดเวช | รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล |
๖ | นพ.ประพันธ์ สมพร | รองผู้อำนวยการภารกิจพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ |
๗ | นพ. ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน | รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ |
๘ | นพ. อรรถพล รัตนสุภา | ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก |
๙ | แพทย์หญิงณัฐยา พรมวัง | หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
จำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์และบุคลากร
ลำดับที่ | ชื่อ – สกุล | คุณวุฒิ |
๑ | นายแพทย์ภุมรินทร์ แซ่ลิ่ม | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๒ | แพทย์หญิงณิชาภา ธนกุลเลิศ | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๓ | แพทย์หญิงพรพิชชา ยงวณิชชา | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๔ | แพทย์หญิงจุฑารัตน์ จรลักษณ์ | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๕ | แพทย์หญิงเปรียบดาว เพชรรัตน์ | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๖ | แพทย์หญิงณัฐยา พรมวัง | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๗ | แพทย์หญิงจันทิมา โอภาวัฒนสิน | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๘ | นายแพทย์ธณดล เศียรอินทร์ | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๙ | แพทย์หญิงธนพร จิตติพาณิชย์ | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๑๐ | แพทย์หญิงนภาภรณ์ ทองมาก | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
๑๑ | นายแพทย์บดีพล รักขพันธ์ | ว.ว. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน |
ทำเนียบแพทย์ประจำบ้าน/แพทย์พี่เลี้ยง สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่
เอกสาร
เกณฑ์หลักสูตรฯ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่ ฉบับปรับปรุง สิงหาคม 2567
มคว.3 เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่ 2566
1. ภาคผนวก 1-5 – เนื้อหาหลักสูตรและเกณฑ์การประเมิน EPA และ DOP
2. ภาคผนวก 6 – คำจัดกัดความและเนื้อหาของรายวิชาที่อบรม
4. ภาคผนวก 8-9 – เกณฑ์การเปิดสถาบันใหม่ และตัวอย่างตำรา
5. ภาคผนวก 10 เกณฑ์การคำนวณภาระงานแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหาดใหญ่